ประวัติความเป็นมา

กระบวนการยุติธรรมทางเลือกในการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีตามหลักกฎหมายไทยและกฎหมายสากล ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และเท่าเทียม และการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันอย่างสมานฉันท์ พบว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทั่วโลกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างมาตรการป้องกันด้านกฎหมายที่นิยมตามหลักปฏิบัติสากลที่เหล่าสมาชิกสหประชาชาติได้คาดหวังว่า มวลมนุษยชาติควรเคารพสิทธิและมีความปรองดองต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขไม่ว่าจะในประเทศและระหว่างประเทศของมวลสมาชิกทั้งหลาย กฎบัตรสหประชาชาติเสมือนเสาหลักค้ำประกันที่สำคัญของพลโลกที่ก่อเกิดเป็นกติกา หลักการ และกฎหมายคุ้มครอง มุ่งเน้น กำหนดทางเลือก ขั้นตอน วิธีการ กระบวนการ การเคารพสิทธิซึ่งกันและกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนสากล 

ต่อมากฎหมายรัฐธรรมนูญจึงมีหน้าที่กำหนดเป็นกฎหมายของประเทศที่ต้องดำเนินการสอดคล้องกับกติกาสากลนั้น ประเทศไทยจึงผลักดันการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในปี พ.ศ. 2548 ในรูปแบบศูนย์ประสานงานชุมชน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือจัดการรณรงค์ ให้ความรู้ การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ เป็นผู้ดำเนินการหรือประสานงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและการจัดการความขัดแย้ง การระงับข้อพิพาทชุมชน เสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายด้านสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะการพัฒนากลไกการจัดการความขัดแย้งใน ชุมชน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีเหตุความไม่เป็นธรรมในชุมชน

ต่อมา พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ภาครัฐและภาคประชาชน เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จึงมีการจัดโครงการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของเครือข่ายกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้รวมพลังรับนโยบายและแนวปฏิบัติไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบกับผู้ก่อตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนบ้านห้วยลึก ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมการขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน อันเป็นการต่อยอดเชิงบูรณาการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านกฎหมายในกว้างขวางทางการบริการวิชาการแก่สังคมมากยิ่งขึ้นซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของชมรมสิทธิมนุษยชนและกฎหมายกับชีวิตที่มีมาก่อนนั้นในคณะกรรมการของชมรม ฯ ที่มีการขับเคลื่อนการพัฒนางานอันเป็นจิตอาสาต่อสาธารณชนตามกำลังและความสามารถอันแสดงเจตนารมณ์ร่วมสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายของพลโลกตามหลักกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากล

ดังนั้น ศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนบ้านห้วยลึก ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ จึงได้รวมตัวขอจัดตั้งและขอขึ้นทะเบียนศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนชุมชนขึ้น  โดยได้รับรองเป็นประกาศนายทะเบียน เรื่อง การขึ้นทะเบียนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 6/2566 ลำดับที่ 3 ชื่อศูนย์ “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ (ศกช.สร 101201)” ประกาศ ณ วินที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 โดย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นนายทะเบียน ทั้งนี้โดยมีเจตนารมณ์เพิ่มโอกาสการเข้าถึงทางเลือกในกระบวนการยุติธรรมในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเล็ก ๆ ขับเคลื่อน ป้องกัน แก้ไขปัญหาความขัดแย้งของครอบครัว ชุมชน สาธารณชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนต่อไป

คำสั่งการขึ้นทะเบียนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ (ศกช.สร 101201)